น้องได้เจอศัพท์ใหม่ๆ บ้างหรือไม่?

ที่นี่น้องจะได้เรียนรู้ว่าคำศัพท์อย่าง “อัลกอริทึม” “ข่าวลวง”และ”การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์” หมายความว่าอย่างไร

น้องยังจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติและเครื่องมือออนไลน์ใหม่ๆ เช่น “การถ่ายทอดวิดีโอสด”

ในห้องสมุดยังมีโจทย์มากมายที่จะช่วยให้น้องเข้าใจเกี่ยวกับโลกดิจิทัลมากขึ้น!

ดาวน์โหลดห้องสมุด

น้องสามารถใช้ข้อมูลในห้องสมุดเมื่อออฟไลน์ได้ และยังสามารถสั่งพิมพ์ได้ด้วย เพียงดาวน์โหลดไฟล์ทั้งหมดออกมา

คอมพิวเตอร์จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่ง อธิบายง่ายๆ ได้ว่า อัลกอริทึมเป็นเหมือนสูตรอาหารที่มีขั้นตอนการทำงานให้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติตาม

เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กมีอัลกอริทึมไว้ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น:

  • เลือกว่าจะแสดงโพสต์ใดให้น้องเห็นบนฟีดข่าว
  • แนะนำคนที่น้องอาจจะสนใจติดต่อด้วย
  • แนะนำเพจตามสิ่งที่น้องกดไลค์
  • ตรวจจับลิงค์อันตรายที่อาจเป็นลิงค์หลอกลวงหรือไวรัสคอมพิวเตอร์
  • เลือกแสดงโฆษณาตามความสนใจของน้อง

 

เป็นสิ่งที่ทำได้ในบางแอพพลิเคชัน โดยผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าในบัญชีเป็นใครก็ได้ หรือใช้แอพที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนส่งข้อความไปยังผู้ใช้คนอื่น โดยที่ก็ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นจริงๆ แล้วเป็นใครมาจากไหน บางแอพถูกออกแบบมาไม่ให้ส่งข้อความตอบกลับได้ด้วย

มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

การไม่เปิดเผยตัวตนทำให้การทำร้ายผู้อื่นทำได้ง่ายขึ้น มันทำให้ผู้ใช้งานปลอมเป็นคนอื่นได้ หรือที่รู้จักกันว่า “Catfishing” ดังนั้นก่อนที่น้องจะเริ่มใช้งานบริการออนไลน์ที่ไม่ต้องให้ผู้ใช้เปิดเผยตัวตน น้องต้องมั่นใจว่ารู้จักวิธีการรายงานและบล็อกผู้ประสงค์ร้าย

แอพพลิเคชันหรือที่ถูกเรียกกันทั่วไปว่าแอพ คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเภทใดก็ได้

โดยทั่วไปแอพมักจะถูกดาวน์โหลดลงบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต น้องสามารถใช้งานแอพโดยคลิกไปที่ไอคอนหรือรูปภาพเล็กๆ บนหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แอพฟรีบางตัวถูกติดตั้งมาให้พร้อมใช้งานอยู่แล้ว เช่น แอพปฏิทิน หรือแอพเครื่องคิดเลข ส่วนแอพอื่นๆ จะต้องซื้อและดาวน์โหลดเพิ่ม บริษัทจำนวนมากให้บริการผ่านแอพเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย เช่น แอพธนาคารออนไลน์ หรือแอพช้อปปิ้งออนไลน์

คนรุ่นใหม่จำนวนมากใช้บริการแชทและโซเชียลมีเดีย เช่น ว็อทแซพพ์ (WhatsApp), วีแชท (WeChat), อินสตาแกรม (Instagram) และ เฟซบุ๊ก (Facebook) ผ่านแอพบนสมาร์ทโฟนของพวกเขา

แอพและเว็บไซต์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน เช่น เกมออนไลน์และโซเชียลมีเดีย อนุญาตให้น้องปิดกั้นคนบางคนไม่ให้เข้ามาคุยกับน้องหรือมองเห็นโพสต์และข้อมูลของน้อง การกระทำเช่นนี้เรียกว่า การบล็อก

การบล็อกผู้ใช้คนอื่นได้จะช่วยให้น้องปลอดภัยและรู้สึกสบายใจมากขึ้นขณะท่องโลกออนไลน์

ต่อไปนี้คือบางสาเหตุที่ทำให้น้องตัดสินใจบล็อกใครบางคนบนโลกออนไลน์:

  • น้องถูกกลั่นแกล้งหรือมีคนมาเกรียนออนไลน์
  • น้องได้รับข้อความอัตโนมัติที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นจากบัญชีปลอมหรือบอท (Bots)
  • มีคนที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับน้องขณะเล่นเกมออนไลน์
  • น้องได้รับข้อความที่ไม่เหมาะสมจากคนที่ไม่รู้จัก

เมื่อใช้เว็บไซต์ใดๆ ก็ตาม น้องต้องศึกษาวิธีการบล็อกคนอื่นและสิ่งที่พวกเขาสามารถเห็นหรือไม่เห็นหลังจากที่ถูกบล็อกไปแล้ว น้องไม่ต้องกังวลว่าคนที่ถูกบล็อกจะได้รับข้อความแจ้งเตือนจากระบบว่าเขาถูกน้องบล็อก เพราะธรรมดาแล้วจะไม่มีการแจ้งให้รู้ ทางที่ดีน้องควรจะศึกษาข้อมูลของแต่ละเว็บไซต์ เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายก็มีขั้นตอนการบล็อกที่แตกต่างกัน

โจทย์: เลือกเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมาหนึ่งเว็บไซต์ และศึกษาขั้นตอนการบล็อกของเว็บไซต์นั้น จากนั้นจดขั้นตอนโดยใช้ภาษาง่ายๆ แล้วลองดูว่าน้องสามารถที่จะอธิบายขั้นตอนการบล็อกให้ผู้อื่นเข้าใจได้หรือไม่

บล็อกคือเว็บไซต์ที่มีการอัพเดตอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้การดูแลของคนคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ โดยใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ หรืออยู่ในรูปแบบบทสนทนา

ทุกคนสามารถสร้างบล็อกของตนเองได้อย่างง่ายๆ มันเป็นวิธีสนุกๆ สำหรับเขียนเกี่ยวกับความสนใจและงานอดิเรกของตัวเอง และบางคนก็ทำบล็อกขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนอื่นๆ ที่อาจจะกำลังประสบปัญหาเดียวกับตนเอง หรือที่เรียกว่า การช่วยเหลือแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer-to-Peer Support)

แต่ควรรู้ไว้ว่า ไม่ใช่ว่าบล็อกทุกบล็อกจะเชื่อถือได้ บางคนอาจแสดงความคิดเห็นส่วนตัวโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุน ส่วนบางบล็อกก็อาจจะมีความคิดเห็นและรูปภาพที่รุนแรงและเป็นอันตราย ลองอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวลวง เพื่อศึกษาวิธีสังเกตว่าข้อมูลแบบใดที่น่าเชื่อถือ

เว็บเบราว์เซอร์เป็นโปรแกรมเพื่อการเข้าถึงข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (World Wide Web)

เบราว์เซอร์ที่เป็นที่นิยมได้แก่ โครม (Chrome) ซาฟารี (Safari) ไฟร์ฟอกซ์ (Firefox) และไมโครซอฟท์ เอดจ์ (Microsoft Edge) ที่เข้ามาแทนที่อินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer) น้องสามารถใช้เบราว์เซอร์ในการค้นหาเว็บไซต์ รูปภาพ วิดีโอและคลังข้อมูลออนไลน์อื่นๆ

ในโลกดิจิทัล “Catfish” หมายถึงคนที่ปลอมตัวเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง

ตัวอย่างเช่น มันง่ายมากที่จะสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมขึ้นมา โดยใช้ชื่อปลอมและโหลดรูปภาพของคนอื่นมา แล้วแอบอ้างว่าเป็นคนๆ นั้น บางครั้งคนใช้วิธีนี้เพื่อที่จะแพร่กระจายข้อความเกลียดชังและเป็นอันตรายโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง

ถ้ามีคนที่น้องไม่รู้จักมาขอเป็นเพื่อนออนไลน์ หรือส่งข้อความมาหาน้อง ให้เตือนตัวเองว่าชื่อและรูปภาพที่เขาใช้อาจจะไม่ใช่ตัวตนจริงของเขา

บางครั้งคนร้ายจะใช้รูปภาพของคนหน้าตาดีเพื่อที่จะล่อลวงให้คนอื่นยอมรับคำขอเป็นเพื่อนของเขา

Cyberbullying คือการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ ส่วนคนที่กลั่นแกล้งคนอื่นออนไลน์จะถูกเรียกว่า อันธพาลออนไลน์ (Cyberbully)

แม้ว่าการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์กับการเกรียนออนไลน์จะสามารถใช้แทนกันได้ในหลายกรณี แต่จริงๆ แล้วทั้งสองคำนี้มีความหมายที่ต่างกันเล็กน้อย

การกลั่นแกล้งออนไลน์มักจะเกิดขึ้นจากคนที่รู้จักกัน และมักจะเกิดการกลั่นแกล้งในโลกแห่งความจริงควบคู่ไปด้วย

ในขณะที่การเกรียนมักจะเริ่มจากการคอมเมนต์หรือส่งข้อความไปยังคนที่ไม่เคยพบหน้า เพื่อยั่วยุให้เกิดการโต้เถียงออนไลน์

ข้อควรจำ:

  • เมื่อพบเห็นการกลั่นแกล้งออนไลน์ที่ถึงจะไม่ได้เกิดขึ้นกับน้องเองก็ตาม ให้รีบแจ้งผู้ใหญ่ที่ไว้ใจทันที เพราะคนที่ถูกกระทำอาจจะกลัวหรือรู้สึกแย่เกินกว่าที่จะรายงานด้วยตัวเอง
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในการบล็อกและรายงานการกลั่นแกล้งออนไลน์
  • อย่าส่งข้อความตอบโต้การกลั่นแกล้งออนไลน์โดยเด็ดขาด จงรายงานและขอความช่วยเหลือ
  • ถึงแม้จะอยากลบข้อความแย่ๆ ที่น้องได้รับ แต่อย่าลืมที่จะเก็บหลักฐานไว้ให้ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจดู

ร่องรอยดิจิทัล คือร่องรอยที่ถูกทิ้งไว้เมื่อน้องใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยจะช่วยสร้างชื่อเสียงและตัวตนบนโลกออนไลน์ของน้อง

ร่องรอยดิจิทัลประกอบไปด้วยเนื้อหาที่น้องทำเอง โพสต์ต่างๆ และการแชร์ รวมถึงเนื้อหาที่คนอื่นโพสต์และแชร์กับน้องและเกี่ยวข้องกับตัวน้อง การจะมีร่องรอยดิจิตัลในแง่บวกได้นั้น สิ่งสำคัญคือ น้องต้องคิดให้รอบคอบก่อนที่จะกดแชร์ กดไลค์ หรือโพสต์อะไรออนไลน์

อย่าปล่อยอะไรก็ตามที่จะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงในโลกออนไลน์ไว้บนพื้นที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น ถ้าน้องลองค้นหาชื่อตัวเองดู แล้วมีรูปที่ไม่เหมาะสมที่เคยโพสต์บนโซเชียลมีเดียปรากฏขึ้นมา มันก็เป็นไปได้ว่าคุณครูหรือนายจ้างในอนาคตของน้องก็สามารถที่จะเห็นรูปเหล่านั้นได้เช่นกัน

โจทย์: ลองทำความสะอาดร่องรอยดิจิทัลของตัวเอง โดยค้นหาข้อมูลของตัวน้องที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ และลบสิ่งที่คิดว่าอันตราย น่าอาย หรือเป็นการแชร์มากเกินไป จากนั้นเปลี่ยนค่าความเป็นส่วนตัวเพื่อปกป้องข้อมูลทั้งหมดของตัวเอง เพื่อจะได้รู้ว่าถ้าคนอื่นค้นหาน้องบนอินเทอร์เน็ต พวกเขาจะได้เห็นอะไรบ้าง

คำนิยามของ Digital Resilience ของ The UK Council for Child Internet Safety (UKCCIS) Resilience Working Group คือ:

“…ความสามารถที่จะรู้ตัวว่าเมื่อใดที่ตนตกอยู่ในความเสี่ยง รู้ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบนโลกออนไลน์ และสามารถที่จะกอบกู้สถานการณ์จากความยุ่งยากหรือความไม่พอใจที่เกิดขึ้น”

คนที่มีภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลจะสามารถ:

  • รู้ตัวว่าเมื่อใดที่ตนตกอยู่ในความเสี่ยง
  • รู้วิธีขอความช่วยเหลือ
  • เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง
  • รู้วิธีกอบกู้สถานการณ์เมื่อเกิดปัญหา

 

การเข้ารหัสเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้กลายเป็นรหัสลับเพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อความที่ถูกเข้ารหัสแบบต้นทางถึงปลายทาง (End-to-End Encrypted Messages) จะสามารถถูกเปิดอ่านได้โดยผู้ส่งและผู้รับเท่านั้น ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย

ผลดีก็คือข้อความที่ถูกเข้ารหัสจะมีความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวสูง ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับข้อมูลที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อน

ส่วนผลเสียก็คืออาจเปิดช่องให้บางคนใช้ข้อได้เปรียบของการเข้ารหัสแบบต้นทางถึงปลายทางในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นอันตราย โดยไม่สามารถถูกตรวจสอบหรือติดตามได้เลย

มีคนมากมายบนโลกออนไลน์ที่แสวงหาผลประโยชน์จากคนที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้และฉวยโอกาสจากเหยื่อเหล่านั้นเพื่อให้ได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กๆ พวกเขาอาจรู้สึกไม่ดีและละอายแก่ใจ จนถึงกับโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลยก็ตาม

มันสำคัญมากที่จะบอกให้ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้รู้หากน้องรู้สึกละอายใจกับเหตุการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นออนไลน์ ถึงแม้จะลำบากใจแค่ไหน น้องต้องหาคนที่ไว้ใจที่สามารถช่วยรายงานและแก้ไขสถานการณ์ได้

เฟซบุ๊ก คือเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมากกว่าสองพันล้านรายทั่วโลก

เราสามารถทำสิ่งเหล่านี้บนเฟซบุ๊ก:

  • สร้างโปรไฟล์
  • อัพโหลดรูปภาพ
  • อัพเดตสถานะ
  • เพิ่มเพื่อน
  • เข้าร่วมกลุ่ม
  • กด “ถูกใจ (Like)”  รูปภาพและสถานะ
  • ถ่ายทอดวิดีโอสดด้วยเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live)

เฟซบุ๊กตั้งเป้าในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นก็คือการเปิดให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการได้ฟรี

เฟซบุ๊กสร้างรายได้จากการขายข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการให้แก่ผู้ซื้อโฆษณา ข้อมูลเหล่านี้รวมถึงรายละเอียดการกดไลค์ ความสนใจ และลิงก์ที่ผู้ใช้บริการคลิก ตัวอย่างเช่น ถ้าน้องชอบกดไลค์และแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับกีฬา น้องอาจเห็นว่าเฟซบุ๊กจะแสดงโฆษณาที่เกี่ยวกับกีฬาให้น้องเห็นบ่อยๆ

ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ผู้ซื้อโฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำมากขึ้น โดยผู้ซื้อโฆษณาจะสามารถกำหนดได้ว่าโฆษณาชิ้นไหนควรจะปรากฏบนหน้าเพจของผู้ใช้แต่ละคน

โจทย์: เมื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งต่อไป ให้สังเกตว่ามีโฆษณาอะไรปรากฏบนหน้าเพจของน้องบ้าง ลองจดบันทึกดูว่าน้องเห็นโฆษณาของผลิตภัณฑ์และบริการใดบ้าง และมันตรงกับความสนใจของน้องหรือไม่ น้องคิดว่ามีการกำหนดเป้าหมายให้โฆษณาเหล่านั้นหรือไม่?

น้องคงเคยได้ยินคำว่า “ข่าวลวง” จากสื่อหรือจากการคุยกับเพื่อน ข่าวลวงมีอยู่หลายประเภท

ข่าวลวงบางเรื่องถูกสร้างขึ้นโดยใช้รูปหรือเรื่องราวที่แต่งขึ้นมาเพื่อชักจูงให้ผู้อ่านเชื่อในเรื่องที่เป็นเท็จ

ข่าวลวงบางเรื่องมีความจริงอยู่บ้าง แต่อาจจะสร้างความเข้าใจผิด หรือมีข้อมูลที่บิดเบือนซึ่งไม่ได้ถูกตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อน หรืออาจมีความจริงซึ่งถูกแต่งเติมให้เกินจริงโดยผู้เขียน

การสังเกตว่าข่าวใดเป็นข่าวลวงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องด้วยจำนวนข้อมูลมหาศาลและความรวดเร็วที่ข้อมูลถูกโพสต์และส่งต่อกันบนโลกออนไลน์ แม้แต่เว็บไซต์ของสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงเองยังเคยแชร์ข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือโดยไม่ได้ตั้งใจ แน่นอนว่ามีการลบข่าวนั้นออกจากเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลมีเดียของสำนักข่าวเหล่านั้นในทันทีที่รู้ แต่ข่าวเหล่านั้นก็ได้ถูกเห็นและแชร์ต่อกันไปทั่วโลกแล้ว

ถึงแม้เราจะไม่สามารถมั่นใจได้เต็มร้อยก็ตาม แต่นี่คือวิธีที่จะช่วยให้น้องแยกได้ว่าเนื้อหาออนไลน์แบบไหนที่เชื่อถือได้ และแบบไหนที่เชื่อไม่ได้:

  • เนื้อหานี้ได้ถูกเผยแพร่โดยเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงบ้างหรือไม่?
  • รูปภาพดูน่าเชื่อถือหรือเคยถูกใช้มาก่อนหรือไม่? ตัวอย่างเช่น เราสามารถบอกได้ทันทีว่ารูปยีราฟสีชมพูที่กำลังบินรอบดวงจันทร์เป็นเรื่องไม่จริง!
  • ที่อยู่เว็บไซต์ (URL) ดูผิดปกติหรือมาจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่?
  • น้องรู้จักผู้เขียนหรือไม่? น้องเคยได้ยินชื่อของหน่วยงานที่เผยแพร่ข่าวนั้นหรือไม่?
  • น้องคุ้นเคยกับกับหน่วยงานหรือบริษัทนั้นหรือไม่? พวกเขาเป็นที่รู้จักหรือไม่?

โจทย์: หาตัวอย่างของเรื่องราวออนไลน์ที่ไม่น่าเชื่อถือ แล้วอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟังว่าทำไมน้องถึงรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง จากนั้นให้วิเคราะห์ถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือกับสิ่งที่เป็นอันตราย

แฮ็กเกอร์ คือบุคคลที่หาทางเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจเป็นคนที่เข้าถึงบัญชีโซเชียลมีเดีย จนไปถึงคนที่เจาะเข้าเว็บไซต์ของบริษัท หรือเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลที่เป็นความลับ

แฮ็กเกอร์มักใช้การหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวเพื่อที่จะได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นในการเข้าถึงบัญชีหรือเว็บไซต์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ

คำพูดที่สร้างความเกลียดชังมักมุ่งโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจากอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น เชื้อชาติ ศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ ความพิการ หรือเพศ น้องต้องระมัดระวังโพสต์ออนไลน์ที่มุ่งสร้างความเกลียดชัง และพยายามไม่กดไลค์หรือแชร์ข้อความที่รุนแรงเหล่านั้น บ่อยครั้งที่ข้อความออนไลน์บางชิ้นถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องตลกและได้ถูกแชร์ออกไปบนโซเชียลมีเดีย แต่น้องควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการแพร่กระจายของข้อมูลขององค์กรที่มีเจตนาจะกระตุ้นความเกลียดชัง และในบางกรณีอาจหมายถึงก่อความรุนแรงต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อินสตาแกรมเป็นแอพพลิเคชันยอดนิยมในการแชร์รูปภาพและวิดีโอให้กับเพื่อน หรือคนทั่วไปเมื่อตั้งให้บัญชีเป็นสาธารณะ การใช้งานบนอินสตาแกรม ได้แก่:

  • อัพโหลดรูปภาพและวิดีโอ
  • กดไลค์รูปของคนอื่นโดยการคลิกที่รูปหัวใจ
  • คอมเมนต์ใต้รูป
  • ใช้แฮชแท็กเพื่อให้รูปได้รับความนิยม
  • สร้างกลุ่มผู้ติดตามและให้คนติดตามกลับ
  • ใช้ Instagram Direct Message เพื่อส่งข้อความส่วนตัวถึงผู้ติดตาม
  • ถ่ายทอดวิดีโอสดผ่านอินสตาแกรมไลฟ์ (Instagram Live!)
  • เพิ่มรูปภาพและวิดีโอผ่าน Instagram Story ซึ่งคล้ายกับสแนปแชท (Snapchat)

#ad #sponsored

ในบางครั้งคนดังจะได้รับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และได้รับค่าจ้างให้แสดงการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นให้ผู้ติดตามของเขาบนอินสตาแกรมชม นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณา ซึ่งจะต้องระบุให้ชัดเจนหรือใส่แฮชแท็กว่าบุคคลนั้นได้รับค่าจ้างเพื่อที่จะโฆษณาสินค้าชิ้นนั้นๆ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้สะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของพวกเขา

คิก เป็นแอพพลิเคชันฟรีสำหรับแชท ที่ให้ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อความ รูป หรือแม้แต่ภาพร่างให้กัน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนคำหรือจำนวนตัวอักษร

หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญก็คือ ผู้ใช้งานอาจถูกสุ่มให้เชื่อมต่อและสนทนากับคนแปลกหน้า ถึงแม้ผู้ใช้งานสามารถจะออกจากการสนทนาเมื่อไรก็ได้ แต่ยังคงมีการตั้งคำถามว่าแอพพลิเคชันนี้มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนสำหรับเด็ก หากน้องใช้แอพนี้อยู่ ก็ควรรู้ถึงความเสี่ยงนี้ด้วย

ถึงจะไม่มีการจ่ายเงินเพิ่มภายในแอพอีก (in-app purchase) แต่ฟังก์ชันคิกโค้ด (Kik Code) จะพยายามเชื่อมต่อผู้ใช้งานเข้ากับเว็บไซต์ของแบรนด์สินค้าต่างๆ  และคิกใช้คิวอาร์โค้ดเหล่านี้ในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน

ไลฟ์สตรีมมิ่ง คือการถ่ายทอดสัญญาณวิดีโอบนอินเทอร์เน็ตแบบทันที (Real-time) ผ่านทางแอพพลิเคชันไลฟ์สตรีมบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้

ทำไมไลฟ์สตรีมมิ่งจึงเป็นที่นิยม?

ไลฟ์สตรีมมิ่งได้รับความนิยมอย่างมากเพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นผู้ผลิตและผู้นำเสนอผลงานสู่ผู้ชมจำนวนมหาศาล น้องสามารถถ่ายทอดสดอะไรก็ตามที่น้องต้องการไปทั่วโลกโดยไม่มีความล่าช้า

แอพพลิเคชันบางตัวที่รองรับไลฟ์สตรีมมิ่ง:

  • Facebook
  • Twitter
  • Instagram
  • ly
  • Me
  • YouNow

มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

มันอาจจะเป็นเรื่องสนุกและน่าตื่นเต้นที่น้องสามารถถ่ายทอดสดและเป็นดารานำในรายการของตัวเอง แต่น้องจะต้องรู้ถึงความเสี่ยงจากการปรากฏตัวให้ทุกคนบนโลกออนไลน์เห็น:

  • น้องไม่มีทางรู้เลยว่าใครกำลังดูอยู่บ้าง – ถ้ารายการของน้องได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก มันก็อาจจะถูกโปรโมท และหากโปรไฟล์ของน้องเปิดเป็นสาธารณะ คนที่ไม่ได้ติดตามน้องอยู่ก็จะเข้ามาดูได้เช่นกัน
  • น้องไม่มีทางรู้เลยว่าจะได้เห็นอะไร – เวลาดูไลฟ์สตรีมของคนอื่น น้องไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะได้เห็นอะไรหรืออะไรกำลังจะเกิดขึ้น นี่อาจจะเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของการชมไลฟ์สตรีม แต่น้องก็อาจจะได้เห็นเนื้อหาที่เป็นภัยหรือสร้างความไม่สบายใจให้กับน้องได้เช่นกัน
  • ผู้ชมทุกคนไม่ได้เป็นมิตรเสมอไป – คอมเมนต์บนไลฟ์สตรีมของพวกเขาอาจจะโหดร้าย หยาบคายหรือไม่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้น้องเสียใจหรือหวาดกลัว
  • ให้คนอื่นรู้ตำแหน่งที่อยู่ของน้อง – น้องจะต้องระมัดระวังไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไปในระหว่างไลฟ์สตรีม ถ้าขณะที่ถ่ายทอดสดน้องใส่เครื่องแบบนักเรียนหรืออยู่แถวๆ บ้านของตัวเอง คนก็จะเดาได้ว่าน้องเรียนอยู่โรงเรียนไหนหรือว่าบ้านอยู่ที่ไหน แม้ว่าน้องจะไม่ได้บอกออกมาตรงๆ ก็ตาม

โจทย์: อภิปรายกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของไลฟ์สตรีมมิ่ง

การควบคุมดูแล เป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งหมายความว่าเนื้อหาของเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันจะต้องถูกตรวจสอบโดยผู้ควบคุมดูแล (Moderator) ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีเนื้อหาที่ไม่ตรงประเด็น ก้าวร้าว เป็นภัย หรือผิดกฎหมายปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ที่เขาดูแล

ตัวอย่างของพื้นที่ออนไลน์ที่มีการควบคุมดูแล:

  • ฟอรัม (Forum)
  • บล็อก (Blog)
  • โซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ
  • กลุ่มออนไลน์ต่าง ๆ

ขั้นตอนการควบคุมดูแลเป็นอย่างไร?

โดยปกติ ผู้ควบคุมดูแลจะตรวจสอบเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้งานทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับ แต่ในบางกรณี ผู้ใช้งานอาจจะเห็นโพสต์หรือความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎ จึงรายงานมายังผู้ควบคุมดูแล

จากนั้นผู้ควบคุมดูแลจะตรวจสอบคำร้อง ถ้าพบว่าข้อความผิดกฎระเบียบจริง ข้อความนั้นก็จะถูกลบทิ้ง ส่วนผู้กระทำผิดจะถูกแจ้งเตือนว่าโพสต์ของเขาได้ถูกลบออกไปแล้ว ถ้าพบว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำก็อาจจะถูกสั่งห้ามโพสต์ข้อความอย่างถาวร

การตรวจสอบดูแลทำให้เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันปลอดภัยขึ้นได้อย่างไร?

เว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันที่มีการตรวจสอบดูแลเป็นประจำมักจะมีบรรยากาศที่ดีและเอื้อต่อการเข้าใช้งาน โดยสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้งานว่า ผู้ที่ละเมิดกฎจะถูกดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ นาทีมีผู้เข้ามาใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนมหาศาลจากทั่วโลก ทำให้การตรวจสอบดูแลเว็บไซต์อย่างทั่วถึงเป็นไปได้ยาก ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียจำนวนมากจึงอยู่ภายใต้แรงกดดันและสัญญาว่าจะเพิ่มทีมงานตรวจสอบดูแลเว็บไซต์ของพวกเขาให้ปลอดภัย อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้งานของพวกเขายากขึ้นเรื่อยๆ

โซเชียลเน็ตเวิร์กบางรายไม่มีการควบคุมดูแล ทำให้ไม่มีการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้งาน บางข้อความถูกเข้ารหัสซึ่งทำให้ไม่มีใครสามารถอ่านข้อความนั้นได้ และเมื่อไม่มีคนคอยตรวจสอบดูแลแล้ว อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้

โจทย์: ครั้งต่อไปที่น้องเข้าเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันที่เป็นที่นิยม ให้น้องลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมดูแลหรือผู้ควบคุมดูแลของเว็บไซต์นั้นๆ แล้วลองอภิปรายให้เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวดูว่าพวกเขาทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลได้ดีแล้วหรือยัง? มีอะไรที่พวกเขาสามารถปรับปรุงได้อีกหรือไม่?

ถ้าน้องรวมคำว่า “Internet” กับคำว่า “Etiquette” (มารยาท) จะได้คำว่า “Netiquette” หรือ “มารยาทบนอินเทอร์เน็ต” ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตัวที่ดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่นขณะที่อยู่บนโลกดิจิทัล

น้องอาจพบว่ามารยาทบนอินเทอร์เน็ตมีความคล้ายคลึงกับการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นบนโลกออนไลน์ นั่นเป็นเพราะว่าการเข้าอกเข้าใจกับความมีน้ำใจเป็นองค์ประกอบสำคัญของมารยาทในการใช้งานอินเทอร์เน็ต

เป็นการยากที่จะคาดเดาอารมณ์ของคู่สนทนาในระหว่างการแชทออนไลน์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างคู่สนทนา น้องเคยส่งข้อความที่คิดว่าตลกไปให้เพื่อน แต่พวกเขากลับคิดว่าน้องจริงจังกับเรื่องนั้นหรือไม่?

มีคนที่ไม่ปฏิบัติตามมารยาทบนอินเทอร์เน็ตและเจตนาส่งข้อความเกลียดชังหรือเชิงลบเพื่อยั่วยุผู้อื่น หรือโพสต์ข้อความหยาบคาย เผยแพร่ข่าวลวงในโซเชียลมีเดีย วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการคนพวกนี้คือ เมินเฉยและไม่ตอบโต้คนพวกนั้น แต่ให้บอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้พวกเขาช่วยรายงานและบล็อกบุคคลนั้น

ต่อไปเป็นข้อปฏิบัติง่ายๆ ที่จะช่วยให้เธอท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขยิ่งขึ้น

  • ตรวจสอบก่อนที่จะแชร์รูปภาพหรือวิดีโอของเพื่อนหรือคนอื่นๆ พวกเขาอาจรู้สึกอับอายหรือไม่อยากให้ภาพเหล่านั้นถูกเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ จำไว้เสมอว่ารูปภาพหรือวิดีโอถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นน้องควรได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อนที่จะแชร์สิ่งเหล่านั้นออกไป
  • คิดก่อนที่จะโพสต์ทุกครั้งว่าจะมีใครที่รู้สึกแย่ อับอาย หรือโกรธในสิ่งที่น้องกำลังจะโพสต์หรือไม่? นอกจากนี้การเขียนคอมเมนต์แย่ๆ บนโพสต์ของคนดังในโซเชียลมีเดีย การไปเกรียนกับคนที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ตก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ร้ายกาจเช่นกัน
  • ตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่จะแชร์สิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดตามมา
  • คิดให้รอบคอบว่าอีเมล ข้อความ หรือคอมเมนต์ของน้องจะทำให้คนอื่นมองน้องอย่างไร ตัวอย่างเช่น การใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดในข้อความที่ส่งถึงครู อาจถูกมองว่าไม่สุภาพและก้าวร้าว ถึงแม้ว่าน้องจะไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้นก็ตาม

โจทย์: นึกถึงสิ่งที่ตัวเองมักทำบนโลกออนไลน์และประเมินว่าน้องได้ปฏิบัติตามมารยาทการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ น้องสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง? พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว

ความเข้าอกเข้าใจคือ ความรู้สึกที่ช่วยให้น้องตระหนักถึงผลกระทบที่น้องมีต่อผู้อื่น และเข้าใจถึงความรู้สึกของพวกเขาต่อสิ่งที่น้องพูดหรือกระทำ

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีใครบางคนกำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากและรู้สึกว่ามีแต่สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น ถ้าน้องเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้เขารู้สึกแย่ นั่นแสดงว่าน้องเป็นคนที่มีความเข้าอกเข้าใจ และกำลังแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น

ความเข้าอกเข้าใจแตกต่างจากความสงสาร ความเข้าอกเข้าใจคือการที่น้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ส่วนความสงสารคือการที่น้องแสดงให้เห็นว่าใส่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มากกว่าที่จะแค่เข้าใจความรู้สึกของคนๆ นั้น

ความเข้าอกเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญต่อการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในแอพพลิเคชัน เช่น สแนปแชท และอินสตาแกรม หรือขณะที่คุยกับเพื่อนออนไลน์ขณะเล่นเกม บนเว็บไซต์ หรือในแอพพลิเคชันสำหรับแชท น้องควรจะเอาใจเขามาใส่ใจเราและคิดให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะทำหรือพูดอะไรออกไปบนโลกออนไลน์

น้องจะสร้างนิสัยความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นออนไลน์ได้อย่างไร?

  • ถามตัวเองก่อนที่จะโพสต์ข้อความหรือความคิดเห็นใดๆ โดยเฉพาะถ้ามันมีความเกี่ยวข้องกับผู้อื่น น้องจะพูดสิ่งนั้นต่อหน้าบุคคลนั้นหรือไม่? น้องจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีคนพูดถึงน้องแบบเดียวกันนี้?
  • คิดก่อนที่จะแชร์วิดีโอหรือรูปภาพว่ามันจะทำให้ใครบางคนไม่สบายใจ โกรธ อับอาย หรือรู้สึกถูกล่วงละเมิดหรือเปล่า? แล้วจะมีคนกี่คนที่จะเห็นโพสต์และแชร์มันต่อ?
  • จงปฏิบัติตัวดีต่อผู้อื่น สิ่งที่น้องพูดออกมาอาจกระทบต่อความรู้สึกและส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของผู้อื่นได้
  • เมื่อเห็นมีคนถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ อย่าเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นอันขาด ให้บอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจและรายงานการรังแกนั้น แต่อย่าโต้ตอบกับพวกอันธพาลโดยตรง
  • ถ้ามีคนขอให้ลบรูปภาพของเขาที่น้องโพสต์ออนไลน์ ให้รีบลบมันทันที เอาใจเขามาใส่ใจเรา
  • จงมีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเองเช่นกัน! จำไว้ว่าไม่ใช่ว่าชีวิตของทุกคนจะน่าตื่นเต้นหรือสมบูรณ์แบบอย่างที่เห็นบนโซเชียลมีเดีย ถ้าน้องพบว่าการเข้าไปดูรูปภาพหรือวิดีโอของผู้อื่นทำให้น้องเศร้าหรืออิจฉา จงหยุดดูซะ และรู้ไว้ว่าผู้คนสามารถเลือกได้ว่า จะให้คนอื่นเห็นตัวตนและชีวิตของเขาในแบบไหน และเขายังใช้ฟิลเตอร์หรือตกแต่งรูปอย่างไรก็ได้อีกด้วย

โจทย์: นึกถึงสิ่งที่น้องจะทำได้เมื่อออนไลน์ครั้งต่อไป เพื่อแสดงถึงความมีน้ำใจและความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างการส่งข้อความให้กำลังใจหรือทำให้เพื่อนหัวเราะก็ได้

ชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ คือสิ่งที่คนทั่วไปจะได้เห็นเมื่อพวกเขาค้นหาข้อมูลออนไลน์ของน้อง ซึ่งอาจรวมถึงรูปภาพที่น้องเปิดสาธารณะ โพสต์ที่น้องแชร์ให้ทุกคนในโซเชียลมีเดียเห็นได้ หรือแม้กระทั่งรูปภาพหรือวิดีโอที่มีตัวน้องอยู่ในนั้นซึ่งถูกแชร์โดยคนอื่น

น้องต้องระมัดระวังเกี่ยวกับภาพลักษณ์และร่องรอยดิจิทัลที่น้องอาจทิ้งไว้บนโลกออนไลน์

เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมสิ่งที่ผู้อื่นพูดหรือแชร์เกี่ยวกับตัวน้องบนโลกออนไลน์ แต่น้องสามารถระมัดระวังในสิ่งที่ตัวเองจะเปิดเผยต่อสาธารณะได้

ก่อนที่น้องจะโพสต์ข้อความสาธารณะใดๆ น้องควรลองนึกดูว่าผู้ปกครองหรือคุณครูของน้องจะรู้สึกอย่างไรถ้าพวกเขาเห็นโพสต์นั้น? และน้องพอใจที่จะให้ทุกคนในโลกเห็นสิ่งนั้นหรือไม่?

รหัสผ่าน คือ คำ วลี หรือชุดตัวอักษรที่เป็นความลับ ที่ช่วยให้น้องผ่านเข้าถึงข้อมูลหรือบัญชีที่มีการตั้งค่าป้องกันไว้ได้

รหัสผ่านที่ปลอดภัยสูง คือ รหัสผ่านที่เดาได้ยาก มันช่วยป้องกันข้อมูลออนไลน์ของน้องได้ จงเก็บรหัสผ่านเป็นความลับเสมอ

คำแนะนำในการตั้งรหัสผ่าน:

  • สร้างรหัสผ่านที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละบัญชี
  • ตั้งรหัสผ่านที่เดาได้ยาก
  • ใช้การผสมระหว่างตัวเลข อักขระ และตัวอักษรทั้งตัวพิมพ์เล็กและตัวพิมพ์ใหญ่
  • หลีกเลี่ยงการใช้คำที่เดาได้ง่าย เช่น ชื่อตัวเองหรือชื่อสัตว์เลี้ยงของน้อง
  • หลีกเลี่ยงการใช้เลขที่เดาได้ง่าย เช่น วันเกิด อายุ หรือเบอร์โทรศัพท์ของน้อง
  • ใช้วลีสั้น ๆ ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ แทนที่จะใช้คำเพียงคำเดียว
  • เก็บรหัสผ่านเป็นความลับ แม้กระทั่งจากเพื่อนสนิทที่สุดของน้องเอง!

โจทย์: หลังจากที่ได้อ่านข้อแนะนำด้านบนแล้ว น้องคิดรหัสผ่านที่มีความปลอดภัยสูงได้แล้วหรือยัง ตอนนี้ได้เวลาเปลี่ยนรหัสผ่านของบัญชีออนไลน์ของน้องแล้ว ให้แน่ใจว่าเก็บมันไว้เป็นความลับด้วยล่ะ

การสนับสนุนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน คือการใช้ประสบการณ์ของตนเองในการช่วยเหลือทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งกลุ่มคนที่ผ่านประสบการณ์หรือเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันจะสามารถเข้าใจถึงความรู้สึกซึ่งกันและกัน พร้อมกับให้คำแนะนำในวิธีการแก้ปัญหาซึ่งเคยได้ผลสำหรับตัวเขาเอง

ตัวอย่างเช่น คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลมชัก สามารถที่จะสร้างบล็อกขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์และช่วยเหลือผู้อื่น เขาอาจจะสร้างวล็อก (Vlog) เพื่อเล่าถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโรคลมชัก และตอบคอมเมนต์จากผู้อ่านพร้อมกับให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเคล็ดลับที่จะช่วยให้อาการของพวกเขาดีขึ้น

มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

ข้อดีข้อสำคัญของอินเทอร์เน็ต คือการที่เยาวชนสามารถสร้างเนื้อหาของตนเองและแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ และคนอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การควบคุมดูแลเนื้อหาของตัวเองบนบล็อกหรือวล็อกนั้นทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจสร้างความเข้าใจผิด ก่อให้เกิดอันตราย หรือไม่ก็ถูกแค่บางส่วน

ไม่ใช่ทุกอย่างที่เธอเห็นหรืออ่านออนไลน์จะเป็นเรื่องจริง ถึงแม้เนื้อหาแบบเพื่อนช่วยเพื่อนจะเป็นสิ่งที่ดีและสร้างกำลังใจเป็นอย่างดีให้กับผู้ติดตาม แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อหาอาจจะมาจากมุมมองที่มีอคติ ซึ่งถูกเขียนขึ้นมาเพื่อต้องการชี้นำให้ผู้อ่านคิดไปในทิศทางเดียวกัน หรือเพียงเพื่อต้องการสร้างความเสียหาย

ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking Skills) เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเสพข้อมูลออนไลน์ น้องต้องตั้งคำถามให้กับตัวเองเสมอว่าสิ่งที่น้องกำลังอ่านอยู่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เช่น มันฟังดูสมจริงหรือเปล่า? มันจะก่อให้เกิดอันตรายใดๆ หรือไม่? วิธีคิดแบบนี้สามารถใช้ได้กับเนื้อหาออนไลน์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบทความ ข่าวลือออนไลน์ หรือรูปที่กำลังเป็นกระแส (Viral)

โจทย์: เขียนข้อดีและข้อเสียของการสนับสนุนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนและอธิบายให้ผู้อื่นฟัง

ข้อมูลส่วนบุคคลมีอยู่หลายประเภท ต่อไปนี้คือตัวอย่างของข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความเสี่ยงถ้าถูกแชร์ออกสู่พื้นที่สาธารณะ เพราะคนแปลกหน้าจะสามารถเห็นข้อมูลเหล่านี้ได้:

  • ที่อยู่
  • หมายเลขโทรศัพท์
  • อีเมล
  • ชื่อโรงเรียนของน้อง (หรือลูกของคุณ)
  • ชื่อเต็มและวันเดือนปีเกิด

ข้อมูลบางชนิดอาจเป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่ไม่มีความเสี่ยงที่จะเปิดเผย ตัวอย่างเช่น

  • น้องเป็นคนชอบกีฬา
  • อาหารหรือขนมโปรดของสุนัขของน้อง
  • หนังสือหรือภาพยนตร์โปรดของน้อง

เมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ น้องจำเป็นต้องรู้ว่าข้อมูลชนิดไหนที่ควรเก็บเป็นความลับ เพื่อไม่ให้คนแปลกหน้ารู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวน้องมากเกินไป และยังต้องระลึกอยู่เสมอว่ารูปภาพหรือข้อมูลบางอย่างของเพื่อนของน้อง ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเขา ดังนั้นก่อนที่จะแชร์รูปภาพ หรือแท็กรูปที่มีเขาอยู่ในนั้นน้องควรจะต้องถามเพื่อนก่อน

 

การหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว (Phishing) คือการที่มิจฉาชีพพยายามล่อลวงเพื่อให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิต โดยอาจมาในรูปแบบอีเมลที่ขอให้กรอกหมายเลขบัตรเครดิตเพื่อยืนยันการซื้อสินค้าที่น้องไม่เคยสั่ง หรือหน้าต่างป็อปอัพที่แจ้งว่าได้รับรางวัลเป็นสมาร์ทโฟน แล้วขอให้กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับรางวัล

การหลอกลวงแบบนี้บางครั้งก็ดูสมจริง โดยมิจฉาชีพจะแสร้งว่าข้อความถูกส่งมาจากบริษัทที่มีตัวตนอยู่จริงที่น้องอาจมีบัญชีอยู่ด้วยพอดี สิ่งสำคัญคือน้องต้องตรวจสอบที่มาของอีเมลและข้อความอย่างระมัดระวัง

ข้อแนะนำในการตรวจสอบกลการหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว:

  • บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือจะไม่มีทางขอรหัสผ่านจากลูกค้า
  • ถ้าน้องไม่เคยเข้าร่วมการชิงรางวัลใดๆ แต่จู่ๆ ก็มีป็อปอัพขึ้นมาบนหน้าจอแจ้งว่าน้องได้รับรางวัล เป็นไปได้อย่างมากว่านั่นคือการหลอกลวง
  • ตรวจสอบที่อยู่อีเมลอย่างละเอียด ถึงแม้มิจฉาชีพจะแสร้งว่าเป็นบริษัทที่น้องมีบัญชีอยู่ แต่ที่อยู่อีเมลของมิจฉาชีพเหล่านี้จะดูผิดปกติ โดยมักจะเต็มไปด้วยตัวเลขและตัวอักษรมากมาย ซึ่งต่างจากที่อยู่อีเมลทางการของบริษัทนั้น
  • ค้นหาอีเมลทางการของบริษัทนั้นในอินเทอร์เน็ตเพื่อเปรียบเทียบ
  • รายงานอีเมลล่อลวงให้ผู้ให้บริการอีเมลได้รับรู้ เพื่อที่จะทำการบล็อกผู้ส่งรายนั้น

โจทย์: อธิบายเรื่องการหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวให้กับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน แนะนำวิธีสังเกตการหลอกลวงชนิดนี้ และสิ่งที่พวกเขาควรทำและหลีกเลี่ยงถ้าพวกเขาพบเห็นมัน

โซเชียลมีเดียแทบทุกรายจะสนับสนุนให้ผู้ใช้แชร์รูปของตนสู่สาธารณะ ตั้งแต่รูปเซลฟี่ไปถึงรูปถ่ายครอบครัว เพราะจุดมุ่งหมายของโซเชียลมีเดียคือการสร้างโปรไฟล์ของตัวเราเองให้คนทั้งโลกได้เห็น

บางแอพพลิเคชันบอกว่ารูปภาพและวิดีโอที่โพสต์จะถูกลบหลังจากเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง แต่พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงว่าคนอื่นสามารถบันทึกหน้าจอและเซฟรูปเหล่านั้นลงบนสมาร์ทโฟนของพวกเขาได้ ซึ่งภาพเหล่านั้นอาจเป็นภาพที่น่าอับอายหรือไม่เหมาะสมของน้อง

ไม่มีใครบอกได้ว่าคนอื่นจะทำอะไรกับรูปของน้องที่เขาบันทึกหน้าจอไป ถึงแม้ว่ารูปภาพนั้นจะถูกลบออกจากแอพพลิเคชันไปแล้ว รูปเหล่านั้นยังอาจอยู่ในมือของคนเหล่านั้นได้

เมื่อมีใครบอกว่ารูปภาพถูก “โฟโตช็อป” มา พวกเขากำลังพูดถึงซอฟต์แวร์สำหรับแต่งรูปที่ชื่อว่า “Photoshop” ซึ่งรูปภาพที่ถูกโฟโตช็อป คือรูปภาพที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับนิตยสารแฟชั่น ที่จะแต่งภาพของนางแบบบนหน้าปกเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบ ยังมีแอพพลิเคชันฟรีอีกมากมายที่ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มฟิลเตอร์และตกแต่งเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับรูปภาพนั้นๆ การตกแต่งรูปภาพลักษณะนี้ทำให้บุคคลในรูปดูดีเกินความจริง ส่งผลให้คนที่ไม่รู้ว่ารูปภาพเหล่านั้นถูกปรับแต่งมา เกิดการสูญเสียความมั่นใจในรูปร่างและความภูมิใจในตนเอง

เมื่อเปิดเว็บไซต์บางเว็บบางครั้งน้องจะเห็นหน้าต่างข้อความเล็กๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ป็อปอัพเหล่านั้นเป็นโฆษณาสินค้าหรือบริการ แต่ในบางกรณีป็อปอัพจะเป็นการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวเพื่อรับรางวัลที่ดูไม่น่าจะเป็นจริง น้องควรหลีกเลี่ยงที่จะคลิกบนหน้าต่างป็อปอัพนั้นและปิดมันทันทีโดยการคลิกที่ปุ่ม “X” ขนาดเล็กที่มุมขวาบนของป็อปอัพนั้น น้องต้องระมัดระวังที่จะไม่เผลอคลิกไปที่ปุ่ม “Close” ปลอม ซึ่งจะนำไปยังเว็บไซต์อื่นหรือเป็นลิงก์ที่อาจทำให้อุปกรณ์ติดไวรัสได้ เว็บไซต์ที่มีป็อปอัพจำนวนมากเป็นตัวชี้ว่าเว็บไซต์นั้นไม่น่าเชื่อถือ

การปกป้องข้อมูลของตัวเองบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ น้องต้องรอบคอบในการตัดสินใจว่าข้อมูลใดสามารถเปิดสาธารณะ และข้อมูลใดที่ควรจะเก็บไว้เป็นส่วนตัว

การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เช่น วันเกิด ชื่อเต็มหรือที่อยู่ อาจทำให้น้องตกอยู่ใต้ความเสี่ยง เนื่องจากสาเหตุหลายประการ:

  • มีโจรขโมยอัตลักษณ์ที่จ้องจะขโมยข้อมูลส่วนตัวของน้องเพื่อสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่
  • โจรขโมยอัตลักษณ์อาจจะใช้ข้อมูลของน้องเพื่อแอบอ้างเป็นตัวน้องในโลกออนไลน์
  • มีคนบางคนที่ต้องการทำร้ายและล่วงละเมิดผู้อื่นบนโลกออนไลน์

อย่าเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ รายละเอียดของโรงเรียน และที่อยู่ออกสู่สาธารณะ

ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลใดถูกเก็บไว้เป็นส่วนตัว และข้อมูลใดถูกเปิดแชร์สาธารณะ

โจทย์: ถ้าน้องมีบัญชีโซเชียลมีเดีย ลองทบทวนดูว่าน้องได้แชร์ข้อมูลอะไรไปบ้าง ถ้าน้องรู้สึกว่าได้แชร์ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป ให้ปรับค่าความเป็นส่วนตัวและลบข้อมูลส่วนตัวบางอย่างออก

แอพพลิเคชันโซเชียลมีเดียบางตัว เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอนุญาตให้เราตรวจสอบและแก้ไขค่าความเป็นส่วนตัวเพื่อเพิ่มความปลอดภัยออนไลน์ ค่าความเป็นส่วนตัวช่วยให้น้องตัดสินใจว่าใครสามารถเห็นข้อมูลของน้องได้มากน้อยแค่ไหน

การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของแต่ละแอพพลิเคชันอาจจะแตกต่างกันตามแต่วัตถุประสงค์การใช้งาน แต่ตัวเลือกหลักที่ควรมีได้แก่:

  • เลือกได้ว่าจะให้ทุกคน เฉพาะเพื่อน หรือไม่ให้ใครเห็นสิ่งที่น้องโพสต์
  • เลือกได้ว่าใครสามารถส่งคำขอเป็นเพื่อนกับน้องได้บ้าง
  • เลือกได้ว่าจะปิดหรือเปิดการค้นหา บางแอพพลิเคชันอนุญาตให้ผู้ใช้งานค้นหาผู้อื่นโดยใช้อีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์ได้
  • เลือกการตั้งค่าบอกตำแหน่งที่ตั้ง บางแอพพลิเคชันอนุญาตให้ผู้ใช้งานค้นหาตำแหน่งของเพื่อนได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายเนื่องจากคนแปลกหน้าสามารถรู้ได้ว่าน้องกำลังอยู่ที่ไหน หรือโรงเรียนของน้องอยู่ที่ไหน แนะนำให้น้องปิดการแจ้งตำแหน่งที่ตั้ง

ควรรู้ไว้ว่า ถึงแม้ว่าน้องได้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวบนแอพพลิเคชันโซเชียลมีเดียทุกตัวแล้ว ก็ควรจะเข้าไปอัพเดตมันอยู่เสมอ เนื่องจากบางแอพพลิเคชัน เช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ทำการอัพเดตนโยบายความเป็นส่วนตัวของระบบอยู่เป็นระยะเพื่อรองรับการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งาน

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัวน้องจะได้รับแจ้งและถูกเตือนให้ปรับแต่งค่าความเป็นส่วนตัว โปรดจำไว้ว่าน้องสามารถเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นส่วนตัวที่เคยตั้งไว้ได้ตลอดเวลา

โจทย์: ขอให้ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ช่วยตรวจสอบค่าความเป็นส่วนตัวบนแอพพลิเคชันและบัญชีออนไลน์ของน้องทุกตัว ลองคิดดูว่าน้องจะปรับค่าเพื่อให้ข้อมูลของตัวเองมีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยขึ้นได้อย่างไร?

 

คิวอาร์โค้ดเป็นบาร์โค้ดชนิดหนึ่งที่ถูกออกแบบในประเทศญี่ปุ่น คิวอาร์โค้ดบรรจุข้อมูลที่สามารถอ่านได้ด้วยเครื่องสแกน ตัวอย่างเช่น ตั๋วเดินทางจำนวนมากในปัจจุบันใช้คิวอาร์โค้ดในการบันทึกข้อมูลการจองการเดินทาง ซึ่งสามารถอ่านได้โดยการสแกนผ่านสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆ นอกจากนี้เว็บไซต์จำนวนมากยังใช้คิวอาร์โค้ดในการโฆษณาเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาดูข้อมูลเพิ่มเติม

 

การเรียนรู้ที่จะกอบกู้สถานการณ์จากข้อผิดพลาดหรือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดออนไลน์เป็นทักษะที่มีความสำคัญมาก เพื่อจะทำให้น้องสามารถกลับไปท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข และสามารถใช้โอกาสมากมายบนโลกออนไลน์สร้างประโยชน์ การกอบกู้สถานการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของภูมิต้านทานดิจิทัล ต่อไปนี้คือประเด็นสำคัญที่ควรจดจำ:

  • บอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจทันทีที่เจอสิ่งที่ทำให้น้องไม่สบายใจหรือหวาดกลัวบนโลกออนไลน์
  •  รายงานการกลั่นแกล้งหรือคุกคามออนไลน์ให้ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ทราบทันที เพื่อที่พวกเขาจะได้ช่วยแก้ไขปัญหา
  • ถ้าน้องรู้สึกว่าสิ่งที่โพสต์ไปนั้นอาจจะไม่เหมาะสม ให้ลบทิ้งทันที
  • ถ้าน้องโพสต์รูปของเพื่อนซี่งทำให้เพื่อนไม่พอใจ ให้ลบรูปออก และขอโทษเขาทันที
  • ถ้าน้องได้บอกรหัสผ่านของตัวเองให้คนอื่นรู้ ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านให้ยากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น
  • ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและตำแหน่งที่ตั้งในบัญชีทั้งหมดว่ามีความปลอดภัย และน้องต้องรู้ว่ากำลังแชร์ข้อมูลของตัวเองให้กับใครบ้าง

โจทย์: นึกถึงสิ่งที่น้องทำผิดพลาดออนไลน์ แล้วลองคิดดูว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีกได้อย่างไร

การรู้จักวิธีรายงานการคุกคามของบริการออนไลน์แต่ละเจ้าที่น้องใช้บริการอยู่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือส่วนมากมีขั้นตอนการรายงานภัยออนไลน์ให้ผู้ใช้งานเห็นชัดเจน ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียหลายรายมีผู้ควบคุมดูแลที่คอยจัดการกับโพสต์ที่ได้รับรายงานว่าเป็นการคุกคามหรืออันตราย

โจทย์: ปรึกษาผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้เพื่อหาวิธีการรายงานภัยคุกคามในแอพพลิเคชันและเว็บไซต์ที่น้องใช้อยู่ บันทึกวิธีการเป็นขั้นตอนง่ายๆ เพื่อน้องจะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้างหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง จากนั้นตัดสินใจว่าน้องจะใช้กลยุทธ์แบบใดในการ “กอบกู้” สถานการณ์ที่ผิดพลาดในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และมีขั้นตอนอะไรบ้างที่ต้องทำ?

พฤติกรรมเสี่ยงอาจนำมาซึ่งอันตราย ในหลักสูตรนี้ คำว่าการติดต่อที่มีความเสี่ยง หมายถึง ข้อความที่ได้รับจากคนแปลกหน้าออนไลน์ ไม่ใช่ว่าข้อความทั้งหมดจากคนแปลกหน้าจะเป็นอันตรายเสมอ แต่ข้อความเหล่านั้นถือเป็นความเสี่ยง เพราะอาจก่อให้เกิดภัยได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่น้องต้องหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลกับคนแปลกหน้าออนไลน์

การรู้จักสังเกตลักษณะของการหลอกลวงออนไลน์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มิจฉาชีพออนไลน์พยายามที่จะล่อลวงให้เหยื่อทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือล่อลวงเงินจากเหยื่อ หลักสูตรนี้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการสังเกตและหลีกเลี่ยงจากการถูกลวงเอาข้อมูลส่วนตัว

สกรีนช็อต หรือ สกรีนแคปเชอร์ (Screen Capture) คือ การจับภาพหน้าจอหรือการบันทึกภาพที่กำลังแสดงผลบนหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ณ เวลานั้น สกรีนช็อตมีประโยชน์มากเมื่อเราต้องการเก็บหลักฐานของข้อความก่อกวนหรือกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์

แม้จะมีประโยชน์ แต่การใช้งานสกรีนช็อตก็มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะคนอื่นก็สามารถถ่ายหน้าจอที่มีรูปที่น้องได้โพสต์และเข้าใจว่ามันจะหายไปเองหลังจากระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากบางแอพพลิเคชันระบุว่ารูปภาพจะถูกลบทิ้งหลังจากที่โพสต์ไปแล้ว 24 ชั่วโมง

เสิร์ชเอนจิน คือ เครื่องมือที่ช่วยให้น้องค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เมื่อน้องพิมพ์คำที่ต้องการค้นหาลงไป จะมีการแสดงผลออกมาเป็นรายชื่อเว็บไซต์ที่เป็นตัวเลือกมาให้ ในปัจจุบันนี้มีเสิร์ชเอนจินที่เปิดให้บริการอยู่มากมาย เช่น Yahoo และ Bing แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกคือกูเกิล (Google) ที่มีคนใช้งานเป็นล้านล้านครั้งในแต่ละปี

รูปเซลฟี่ คือ รูปภาพของน้องที่ถ่ายด้วยตนเอง โดยปกติรูปเซลฟี่จะถ่ายด้วยสมาร์ทโฟนหรือเว็บแคมและถูกอัพโหลดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย

สแน็ปแชท คือ แอพพลิเคชันมัลติมีเดียสำหรับรับส่งรูป และสร้างเรื่องราวในรูปแบบดิจิทัล

เราสามารถทำสิ่งเหล่านี้บนสแน็ปแชท:

  • ส่งสแน็ป (รูปหรือวิดีโอที่มีความยาวไม่เกิน 10 วินาที)
  • สร้างเรื่องราวสแน็ปแชทของตัวน้องเอง (ซึ่งจะปรากฎอยู่บนโพสต์ไม่เกิน 24 ชั่วโมง)
  • ค้นหาเพื่อนจากรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือของเธอ
  • ใช้ฟิลเตอร์แต่งภาพหรือวิดีโอให้สนุกและน่าตื่นเต้นขึ้น
  • คุยกับเพื่อนผ่านการรับส่งข้อความ
  • ค้นหาเพื่อนที่ใช้งานสแน็ปแชทผ่านสแนปแมพ (Snap Map) ซึ่งน้องสามารถปิดการบอกตำแหน่งที่ตั้งนี้ได้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยขณะใช้งาน
 

เว็บไซต์และแอพพลิเคชันที่ช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างและแชร์เนื้อหาหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และสแนปแชท คือตัวอย่างของโซเชียลเน็ตเวิร์กยอดนิยมในปัจจุบัน

สตรีมมิ่ง คือ การฟังเพลงหรือชมวิดีโอแบบทันทีบนสื่อออนไลน์ โดยไม่ต้องดาวน์โหลดไฟล์ลงมาสู่คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือเพื่อเปิดดูภายหลัง

การรับชมสตรีมมิ่งไม่ว่าจะเป็นวิดีโอหรือเว็บแคสต์ (Webcasts) ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการส่งข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องดาวน์โหลดไฟล์

บางครั้งการสตรีมมิ่งอาจผิดกฎหมายได้ เช่น การแพร่ภาพเพลงหรือภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ หรือการแพร่ภาพการถ่ายทอดสดกีฬา น้องอาจเจอสตรีมมิ่งคุณภาพต่ำบนเว็บไซต์ที่เผยแพร่สตรีมมิ่งอย่างผิดกฎหมาย ที่มาพร้อมกับป็อปอัพโฆษณาและลิงก์ที่มีไวรัสคอมพิวเตอร์

เช่นเดียวกับโลกแห่งความเป็นจริง บนโลกออนไลน์ก็มีคนที่มีจิตใจโหดร้ายเช่นกัน บนโลกออนไลน์คนพวกนี้สามารถส่งข้อความแย่ๆ ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน คนที่ส่งข้อความเหล่านี้รู้จักกันในนาม อันธพาลอินเทอร์เน็ต (Internet Trolls) ส่วนการส่งข้อความก้าวร้าวรุนแรงโดยมีเป้าหมายเพื่อยั่วยุและทำร้ายผู้อื่นบนสังคมออนไลน์เราเรียกว่า การเสี้ยม

การเสี้ยมบนอินเทอร์เน็ตคือการตั้งใจที่จะส่งข้อความหรือคอมเมนต์ที่ก้าวร้าวและหยาบคาย เพื่อที่จะยั่วยุให้ผู้อื่นโกรธ ไม่พอใจ และหรือตอบโต้กลับมา

พวกเสี้ยมหรือพวกเกรียนอินเทอร์เน็ตมักจะพุ่งเป้าโจมตีบุคคลมีชื่อเสียงที่พวกเขาไม่เคยพบ โดยการส่งข้อความเพื่อยั่วยุให้เกิดการโต้แย้งออนไลน์กับคนอื่นขึ้น และบ่อยครั้งที่พวกเสี้ยมเหล่านี้จะไม่แสดงตนหรือใช้ตัวตนปลอม

ถ้าน้องได้เจอพวกเสี้ยมหรือพวกเกรียนอินเทอร์เน็ต ทางที่ดีที่สุดคืออย่าไปโต้แย้งด้วย เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ ถ้าพวกเขาส่งข้อความที่รุนแรงและไม่เหมาะสม จงบล็อกและแจ้งรายงาน และควรขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ด้วย

ถ้าน้องได้รับข้อความออนไลน์แย่ๆ เป็นเรื่องปกติที่น้องจะรู้สึกแย่และโกรธ และอยากจะตอบกลับไปด้วยข้อความหยาบคาย แต่มันยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะคนที่ส่งข้อความเหล่านี้ต้องการให้น้องตอบกลับและเข้าไปสู่การโต้เถียงกับเขา ถ้าน้องโต้ตอบ ก็เท่ากับได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ

ถ้าอยางนั้นน้องควรจะทำอย่างไร?

  • บอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือ
  • รายงานและบล็อกผู้ก่อกวนโดยใช้เครื่องมือด้านความปลอดภัยที่มีอยู่บนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันนั้นๆ
  • อย่าลบข้อความนั้นทิ้งจนกว่าจะคัดลอกไว้เป็นหลักฐานให้เรียบร้อยก่อน

โจทย์: ลองหาคำจำกัดความของคำว่าการเสี้ยม และอธิบายให้พ่อแม่หรือพี่น้องฟัง น้องเคยประสบกับเหตุการณ์ก่อกวนออนไลน์หรือไม่? ถ้าเคย น้องรับมือกับมันอย่างไร?

เว็บไซต์โซเชียลมีเดียที่ให้ผู้ใช้งานส่งข้อความสั้นๆ หรือที่เรียกกันว่า ทวีต (Tweets) เล่าเรื่องราวหรือสิ่งที่พวกเขากำลังทำ

เราสามารถทำสิ่งเหล่านี้บนทวิตเตอร์:

  • ส่งข้อความทวีตที่ยาวไม่เกิน 280 ตัวอักษร
  • ติดตามผู้ใช้คนอื่น ๆ
  • เพิ่มจำนวนผู้ติดตาม
  • อัพโหลดรูปภาพ วิดีโอ และภาพเคลื่อนไหว (GIF)
  • รีทวีต (Retweet) หรือการแชร์ข้อความทวีตของคนอื่นเพื่อให้คนที่ติดตามน้องได้เห็น
  • ทำไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านแอพพลิเคชัน Periscope

การยืนยันตนเองแบบสองขั้นตอนเป็นทางเลือกในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีโซเชียลมีเดียหลายราย เช่น ว็อทแซพพ์ (WhatsApp) หรือเฟซบุ๊ก โดยปกติการเปิดใช้การตั้งค่าด้านความปลอดภัยแบบสองขั้นตอนจะทำได้ในเครื่องมือการตั้งค่า

การยืนยันตนเองแบบสองขั้นตอนเพิ่มความปลอดภัยอีกหนึ่งระดับให้กับบัญชีออนไลน์ เพราะเราต้องทำสองสิ่งในการเข้าถึงบัญชี เหมือนกับการที่น้องต้องเปิดประตูสองชั้นด้วยกุญแจสองดอกก่อนที่น้องจะเข้าห้องได้

การยืนยันแบบสองขั้นตอนจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อมีคนรู้รหัสผ่านของน้องโดยที่น้องไม่รู้ตัว เนื่องจากเขาจะไม่สามารถผ่านการยืนยันตนเองไปได้ทั้งสองขั้นตอน

ต่อไปนี้คือตัวอย่างที่พบได้ในบางบัญชีออนไลน์:

  • ขั้นตอนที่ 1 – ป้อนรหัสผ่าน (เป็นสิ่งที่น้องรู้อยู่แล้ว)
  • ขั้นตอนที่ 2 – ป้อนรหัสลับหรือเลขพิน  (สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและส่งไปที่โทรศัพท์มือถือของน้อง)

โจทย์: ศึกษาข้อมูลของการเปิดใช้การยืนยันตนเองแบบสองขั้นตอนและเปิดใช้งานในบัญชีออนไลน์บัญชีใดบัญชีหนึ่งเพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย

 

สิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจจะเป็นเรื่องที่ไว้ใจไม่ได้หรืออาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ ในหลักสูตรนี้ “ข่าวลวง” ถูกจัดว่าเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นสิ่งสำคัญที่น้องจะต้องเรียนรู้วิธีสังเกตว่าสิ่งที่เห็นออนไลน์นั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ ถึงแม้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะระบุว่าข่าวไหนเป็นข่าวลวง แต่ส่วนมากแล้วจะมีจุดให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

 

URL เป็นตัวย่อมาจากคำว่า Uniform Resource Locator ซึ่งหมายถึงที่อยู่ของเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น www.telenor.com ซึ่งบางทีก็อาจเรียกว่าเว็บลิงก์ ถ้าพบว่า URL ดูผิดปกติ เช่นมีตัวเลขปะปนกับอักขระจำนวนมาก นั่นมักจะไม่ใช่เว็บไซต์จริงที่เชื่อถือได้

สกุลเงินเสมือนจริงหรือที่เรียกกันว่าเงินเสมือน คือเงินดิจิทัลที่ไม่ได้มีการควบคุมดูแลโดยหน่วยงานกลางใดๆ แต่ถูกออกและควบคุมโดยคนที่พัฒนาสกุลเงินเหล่านี้ขึ้นมา เงินเสมือนจริงถูกใช้และยอมรับในหมู่สมาชิกชุมชนเสมือนจริง (Virtual Community)

วีล็อก คือ วิดีโอบล็อก ที่ถูกสร้างโดยวีล็อกเกอร์ (Vloggers) วีล็อกเกอร์ชื่อดังหรือเป็นที่นิยมจะมีผู้ติดตามจำนวนมาก วีล็อกที่เป็นที่นิยมได้แก่ วีล็อกด้านไลฟ์สไตล์ ดนตรี และความงาม เช่นเดียวกับวีล็อกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสนับสนุนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน

ว็อทแซพพ์ เป็นแอพพลิเคชันสำหรับรับส่งข้อความทางออนไลน์ให้กับคนที่มีรายชื่อในสมุดโทรศัพท์ของน้องโดยไม่เสียค่าบริการ น้องสามารถใช้ว็อทแซพพ์ทำสิ่งเหล่านี้:

  • สร้างกลุ่มและส่งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และไฟล์ชนิดอื่นๆ
  • ส่งข้อความโต้ตอบกับเพื่อนได้ทันที
  • สนทนาทางวิดีโอ
  • ส่งข้อความเสียงที่บันทึกไว้
  • สนทนาแบบเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกับการคุยโทรศัพท์
  • ส่งข้อความตอบโต้แบบทันทีบนคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บไซต์ว็อทแซพพ์

 

เว็บไซต์ คือการรวบรวมหน้าเว็บเพจหลายๆ หน้าภายใต้ชื่อโดเมน (Domain Name) เดียวกัน เว็บไซต์สาธารณะอนุญาตให้ทุกคนบนอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ ในขณะที่เว็บไซต์ส่วนบุคคล เช่น เว็บไซต์ของบริษัทที่เปิดให้เฉพาะพนักงานของตนใช้ได้ผ่านระบบอินทราเน็ต (Intranet) ของบริษัท

เว็บไซต์มีมากมายหลายประเภท ตัวอย่างเช่น:

  • เว็บไซต์บริษัท เช่น www.telenor.com
  • บล็อกที่มีเนื้อหาเฉพาะด้าน เช่น แฟชั่น การท่องเที่ยว ข่าว บันเทิง
  • โซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น facebook.com

 

วีแชท เป็นแอพพลิเคชันรับส่งข้อความ เช่นเดียวกับว็อทแซพพ์ ที่ให้ผู้ใช้ส่งข้อความถึงกันได้ วีแชทยังมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น:

  • สร้างกลุ่มและส่งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ และไฟล์ชนิดอื่นๆ
  • ส่งข้อความโต้ตอบกับเพื่อนได้ทันที
  • สนทนาผ่านวิดีโอ
  • ส่งข้อความเสียง
  • สนทนาแบบเสียงผ่านอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกับการคุยโทรศัพท์
  • ส่งข้อความตอบโต้แบบทันทีบนคอมพิวเตอร์
  • เล่นเกม
  • ค้นหาเพื่อนโดยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์
  • โพสต์รูปภาพและข้อความบนบล็อกขนาดเล็กที่เรียกว่า โมเมนต์ (Moments) เพื่อแชร์กับเพื่อน